ในปัจจุบัน รถไฟฟ้าของประเทศไทย ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากสะดวกและรวดเร็วเป็นการช่วยประหยัดเวลาการเดินทางได้เป็นอย่างดี และปัจจุบันเส้นทางรถไฟฟ้า BTS-MRT ได้ถูกขยายไปหลายเส้นทาง ไม่เฉพาะภายในเขตกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ยังขยายเส้นทางเพิ่มออกไปสู่ฝั่งปริมณฑล อีกด้วย
1. รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม (ธรรมศาสตร์-มหาชัย)
รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม มหาชัย-ธรรมศาสตร์ รวมระยะทางทั้งหมด 114.3 กิโลเมตร มีทั้งหมด 38 สถานี เป็นเส้นทางรถไฟฟ้าชานเมืองที่เชื่อมต่อกรุงเทพฯ โซนเหนือและโซนใต้ โดยเริ่มก่อสร้างช่วงเส้นทางบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อตลิ่งชัน ระยะทางรวมประมาณ 41 กิโลเมตร ซึ่งเตรียมจะเปิดให้บริการได้ในต้นปี 2563
2. รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน
(ศาลายา-ตลิ่งชัน-บางซื่อ-มักกะสัน-หัวหมาก)
รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อนหรือรถไฟชานเมืองสายตะวันออก-ตะวันตก เป็นส่วนหนึ่งของรถไฟฟ้าชานเมืองสีแดง มีระยะทางประมาณ 127.5 กิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตทางการรถไฟแห่งประเทศไทย ตอนนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างช่วงชุมทางตลิ่งชัน-สถานีกลางบางซื่อ และอยู่ระหว่างทดลองเดินรถด้วยรถไฟดีเซลราง (ระยะที่ 1 ตลิ่งชัน-บางซ่อน) เมื่อปี 2562 ครม.มีมติให้สร้างเพิ่มช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และตลิ่งชัน-ศิริราช คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2565
3. Airport Link Line แอร์พอร์ต เรล ลิงค์
(บางซื่อ-พญาไท-สุวรรณภูมิ)
รถไฟฟ้าสายอากาศยานมีสถานีรายทางทั้งสิ้น 10 สถานี คือ ท่าอากาศยานดอนเมือง – บางซื่อ – พญาไท – ราชปรารภ – มักกะสัน – รามคำแหง – หัวหมาก – บ้านทับช้าง – ลาดกระบัง – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ใช้เวลาเดินทาง 30 นาทีจากดอนเมืองถึงสุวรรณภูมิ ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการสรุปรูปแบบโครงการ
4. รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม (BTS สายสุขุมวิท)
ปัจจุบันเปิดให้บริการช่วงเคหะสมุทรปราการ-ม.เกษตรศาสตร์ เป็นรถไฟฟ้าเส้นทางแรกและเส้นทางหลักของกรุงเทพมหานคร พาดผ่านใจกลางกรุงเทพฯ และพื้นที่สำคัญย่านใจกลางเมือง ปัจจุบันและอยู่ระหว่างการก่อสร้างส่วนต่อขยาย ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต (สถานีม.เกษตรฯ – คูคต ) ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2563
5. รถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อน (BTS สายสีลม)
เป็นรถไฟฟ้าเส้นทางที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม (จุดเชื่อมต่อบริเวณสถานีสยาม) ปัจจุบันเปิดให้บริการที่สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-สถานีบางหว้า อนาคตจะขยายเส้นทาง จากสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-ยศเส และจากสถานีบางหว้าไปตลิ่งชันเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน
6. รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
(MRT บางซื่อ-หัวลำโพง-ท่าพระ-พุทธมณฑลสาย 4)
ปัจจุบัน (2562) เปิดให้บริการครบทุกสถานี (ท่าพระ-หลักสอง) จำนวน 38 สถานี ระยะทาง 47 กิโลเมตร โดยเปิดส่วนต่อขยายหัวลำโพง-หลักสอง และบางซื่อ-ท่าพระในปี 2562 และจะเปิดให้บริการส่วนต่อขยายอย่างเป็นทางการ (เตาปูน-ท่าพระ) วันที่ 30 มีนาคม 2563 สำหรับส่วนต่อขยายจากหลักสองไปถึงพุทธมณฑล สาย 4 อยู่ระหว่างการพิจารณาโครงการ
7. รถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ-ราษฎร์บูรณะ)
รถไฟฟ้าสายสีม่วงปัจจุบันเปิดให้บริการแล้วในช่วงสถานีเตาปูน-คลองบางไผ่ ระยะทางประมาณ 23 กิโลเมตร ซึ่งมีจุดเชื่อมต่อกับสายสีน้ำเงินบริเวณสถานีเตาปูน และเร็วๆ นี้เตรียมก่อสร้างส่วนต่อขยายจากเตาปูนไปราษฎร์บูรณะ ระยะทางเพิ่มเติมประมาณ 23.6 กิโลเมตร คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2563
8. รถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-มีนบุรี)
ปัจจุบัน (2563) รถไฟฟ้าสายสีส้มอยู่ระหว่างการก่อสร้างช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตร ซึ่งจะมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินหรือ MRT ที่สถานีศูนย์วัฒนธรรม และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีน้ำตาล ที่สถานีลำสาลี เป็นเส้นทางใต้ดินและลอยฟ้า คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณปี 2566
9. รถไฟฟ้าสายสีชมพู (ปากเกร็ด-หลักสี่-มีนบุรี-สุวินทวงศ์)
รถไฟฟ้าสายสีชมพูจากแคราย-มีนบุรี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งรูปแบบจะเป็นรถไฟฟ้าโมโนเรล รางเดี่ยว ระยะทางประมาณ 36 กิโลเมตร จะมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายแดง สายสีเขียว สายสีเทาและสายสีส้ม กำหนดการจะสร้างเสร็จปี 2564
10. รถไฟฟ้าสายสีเหลือง (รัชดาภิเษก-ลาดพร้าว-สำโรง)
รถไฟฟ้าสายสีเหลืองเส้นทางลาดพร้าว-สำโรง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร เป็นรูปแบบโมโนเรล จะมีจุดเริ่มต้นจากบริเวณแยกรัชดา-ลาดพร้าว และมีจุดตัดกับรถไฟฟ้าสายสีส้มที่สถานีลำสาลี แอร์พอร์ตลิงค์ที่สถานีหัวหมาก และเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สถานีสำโรง กำหนดการจะแล้วเสร็จประมาณปี 2564 ส่วนต่อขยายจากบริเวณแยกรัชดา-ลาดพร้าวผ่านหน้าศาลอาญา มุ่งหน้ารัชโยธินอยู่ระหว่างการพิจารณาโครงการ
11. รถไฟฟ้าสายสีเทา (เฟส 1 วัชรพล-ทองหล่อ)
รถไฟฟ้าสายสีเทา (วัชรพล-ทองหล่อ) เป็นโครงการรถไฟฟ้าในอนาคต เมื่อปลายปี 2562 ทางสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรหรือสนข. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กทม. อยู่ระหว่างการผลักดันการลงทุน เพื่อแก้ไขปัญหารถติดในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในและชั้นนอก
12. รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (แคราย-ลำสาลี)
รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (แคราย-บึงกุ่ม) ระยะทางประมาณ 21 กิโลเมตร อัพเดตล่าสุดปี 2562 บอร์ดรฟม. เห็นชอบให้ลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าเส้นทางนี้ และมีการลงทุนควบคู่ไปกับการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยหรือกทพ. เพราะทั้ง 2 โครงการมีแนวเส้นทางเดียวกัน ตามแผนกำหนดเริ่มต้นก่อสร้างปี 2563-2564 และกำหนดจะเปิดให้บริการปี 2568
13. รถไฟฟ้าสายสีทอง (กรุงธนบุรี-ประชาธิปก)
รถไฟฟ้าสายสีทอง (กรุงธนบุรี-ประชาธิปก) เป็นรถไฟฟ้าเส้นทางระยะสั้น รูปแบบโมโนเรลหรือรางเดี่ยว พัฒนาโครงการโดยกทม. และกลุ่มไอคอน สยาม ระยะรวม 2.8 กิโลเมตร 4 สถานี แบ่งออกเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 1.8 กิโลเมตร 3 สถานี เชื่อมต่อไอคอน สยาม บริเวณสถานีเจริญนคร ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการปี 2563