สรุป”โควิด-19″ แบบง่ายๆ ทั้งยาต้านไวรัส อาการป่วย พื้นที่เสี่ยง และเพศสัมพันธ์

corona_virus_2019

Covid-19 มากจาก Corona Virus Disease 2019

corona_virus_2019


Rent Connected ได้รวยรวม เรื่องราวเกี่ยวกับ “โควิด-19” ให้เข้าใจง่าย ทั้งยาต้านไวรัส อาการป่วย พื้นที่เสี่ยง และการมีเพศสัมพันธ์ ดังนี้

– covid-19 ติดแล้วตายทุกคนมั้ย?

ไม่ โอกาสเสียชีวิตประมาณ 2-3% แต่จะเยอะเป็นพิเศษในคนสูงอายุและมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ ในกลุ่มเสี่ยงมากๆ อายุมากกว่า 80 ปี อาจมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 14-20%

– covid-19 ติดได้เฉพาะผู้ใหญ่ คนสูงอายุหรือเปล่า?

ไม่ ติดได้ทุกเพศทุกวัย แต่ในเด็ก มีข้อมูลว่าไม่ค่อยเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงมาก ในเด็กน้อยกว่า 9 ขวบ ยังไม่มีรายงานเคสเสียชีวิต แต่ในผู้ใหญ่โดยเฉพาะคนสูงอายุอาจเป็นรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

– covid-19 มันก็ไข้หวัดใหญ่ธรรมดารึเปล่า? ที่มีแต่คนแก่ คนอ่อนแอเสียชีวิต?

ไม่ มันแรงกว่าไข้หวัดใหญ่เยอะ ทั้งในแง่อัตราการแพร่ระบาด และอัตราการป่วยตาย แม้ในกลุ่มเสี่ยง คนสูงอายุมีโรคประจำตัวจะเสี่ยงตายสูง แต่คนหนุ่มสาวไม่มีโรคประจำตัว ก็มีโอกาสเสียชีวิตได้เช่นกัน อายุ 20-30 ร่างกายแข็งแรงแต่ติดเชื้อเสียชีวิตก็มี

– ในเขตร้อนแบบเมืองไทย จะเสี่ยงติดเชื้อน้อยกว่าเมืองหนาวรึเปล่า?

เชื้อตัวนี้ค่อนข้างชอบอากาศหนาว และถ้าอยู่ในเขตร้อน ระยะเวลาที่มันอยู่นอกร่างกายจะสั้นลง แต่ก็ยังเสี่ยงติดเชื้อได้อยู่ดี ดังนั้นอย่าประมาท ต่อให้เขตร้อน มันก็ติดต่อหรือระบาดได้

– การมีเพศสัมพันธ์จะเสี่ยงติดเชื้อตัวนี้ได้มั้ย?

ยังไม่มีรายงานว่าเชื้อตัวนี้ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ แต่ปกติเวลามีเพศสัมพันธ์กันมันจะมีการกอดจูบแลกเปลี่ยนของเหลวกันเป็นปกติ อันนี้น่ะติดเต็มๆ ดังนั้นถ้าใครมีความเสี่ยง งดมีเพศสัมพันธ์ไปก่อนจนกว่าจะหาย

– มีอาการอะไรที่บ่งบอกว่าอาจเป็น covid-19 ได้บ้าง?

น่าเสียดายว่า อาการหลักๆ ของ covid-19 แทบไม่ต่างจากไข้หวัดทั่วไปเลย ไข้ ไอ (อาจมีน้ำมูก เจ็บคอ บางราย)

– ควรไปหาหมอเมื่อไหร่?

ถ้ามีอาการ ไข้ ไอ เหนื่อย แน่นหน้าอก หายใจลำบาก ควรไปหาหมอ โดยเฉพาะถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยง กลับมาจากประเทศที่มีการแพร่ระบาด ควรรีบไปหาหมอทันที แล้วใส่หน้ากากอนามัยไปด้วย และแจ้งประวัติกับพยาบาลอย่างตรงไปตรงมา

– ถ้ามีไข้ ไอ เจ็บคอ ควรไปหาหมอเลยมั้ย?

แนะนำว่าให้ไปเท่าที่จำเป็น เพราะถ้าคนไข้แห่กันไป รพ. เยอะก็จะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดได้ ช่วยกันลดความแออัดใน รพ. จะลดความเสี่ยงนี้ได้

– ยาต้านไวรัสที่จีนส่งมา จะใช้กับผู้ติดเชื้อทุกคนมั้ย

ส่วนมาก คนที่ติดเชื้อตัวนี้มักหายเองได้ ไม่ต้องใช้ยาต้าน ใช้การรักษาตามอาการเหมือนพวกไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ แต่จะมีเคสที่อาการหนัก ซึ่งหมอจะพิจารณาแนวทางการรักษาในกลุ่มนี้เอง อย่าไปหาซื้อยามากินกันเองล่ะ

– ถ้าติดเชื้อแล้วปอดจะพังถาวรทุกรายมั้ย

มีบางรายที่เกิดภาวะแทรกซ้อน ภูมิต้านทานทำงานมากผิดปกติ จนเกิดภาวะพายุไซโตไคน์ทำให้ปอดพังได้ แต่ไม่ได้เป็นทุกราย เป็นส่วนน้อย ส่วนมากสามารถฟื้นตัวได้

– covid-19 ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะช่วยป้องกันได้มั้ย

ไม่ เชื้อคนละตัวกัน แต่ฉีดไว้ก็ดี เพราะมันระบาดทุกปี โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่อาจถึงตายได้เหมือนกัน

– จะป้องกันตัวเองไม่ให้ติด covid-19 ได้ยังไง?

ทำตัวให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารครบหมู่ พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ กินอาหารที่ผ่านความร้อนแล้วเสมอ กินอาหารจานเดียวของใครของมัน ไม่ใช้หลอด ช้อนส้อมจานชามร่วมกัน เว้นระยะห่างจากกันประมาณ 1-2 เมตร เพราะเวลาไอจาม ละอองน้ำลายมันจะลอยฟ่องจากคนไอในรัศมีประมาณ 1-2 เมตร และอย่าเอามือจับนู่นนี่ แล้วมาจับปาก ตา จมูก ของตน จะทำให้เสี่ยงติดเชื้อได้

– จำเป็นต้องใส่ถุงมือยางตอนออกนอกบ้านมั้ย?

ไม่จำเป็น เพราะถ้าเราใช้ถุงมือยางไปแตะนู่นนี่ แล้วเอาถุงมือยางมาแตะปากแตะจมูก ก็เสี่ยงอยู่ดี ใช้มือเปล่าๆ นี่แหละ แต่ล้างให้สะอาดก็โอเคแล้ว

– หม้อต้มน้ำไว้ลวกช้อนตามฟู้ดคอร์ท เพียงพอจะกำจัด covid-19 มั้ย?

เชื้อตัวนี้จะตายที่อุณหภูมิประมาณ 70’c ใช้เวลาห้านาที ส่วนหม้อลวกส่วนมากน้ำมันอุ่นๆ อุณหภูมิไม่ถึง 70’c ไม่น่าจะฆ่าเชื้อได้ เอาไปล้างให้สะอาด หรือพกช้อนส้อมไปเองน่าจะดีกว่า

– สั่งสินค้าจากประเทศที่มีการระบาด จะเสี่ยงติดเชื้อถ้ามีคนขากถุยขากเสลดเปื้อนกล่องพัสดุมั้ย?

เชื้อสามารถอยู่ได้นานถึง 9 วันบนพื้นผิวพลาสติกที่อุณหภูมิห้อง ถ้าส่งของมาทางเรือนานกว่า 9 วัน เชื้อน่าจะตายหมด แต่เพื่อความปลอดภัย ทำความสะอาดให้ดีก็จะดี

– หาเจลแอลกอฮอล์ไม่ได้ทำไงดี?

ใช้วิธีล้างมือด้วยน้ำเปล่าและสบู่ ให้ได้ทุกซอกทุกมุม นานไม่น้อยกว่า 20 วินาที ก็สามารถกำจัดไวรัสได้ประสิทธิภาพเหมือนกัน ง่ายกว่าด้วย หรือถ้าจะใช้แอลกอฮอล์จริงๆ เอาแบบน้ำมาใส่ขวดฟอกกี้ก็ได้ แต่ส่วนตัวกุว่าพกสบู่เหลวแบบหลอดง่ายกว่านะ

– นอกจากแอลกอฮอล์ใช้อะไรฆ่าเชื้อตัวนี้ได้บ้าง?

จริงๆ แล้วใช้ได้หลายตัวมาก เช่น โซเดียมไฮโปคลอไรท์ เบตาดีน รังสี UV-C และสารเคมีอีกหลายตัว แต่ไม่ใช่ว่าจะใช้กับร่างกายมนุษย์ได้หมด ส่วนมากจะใช้ราดบนวัตถุเช่น พื้น หรือใช้แช่ผ้าเพื่อฆ่าเชื้อ ให้เช็กคุณสมบัติและวิธีใช้ให้ดีก่อนจะเลือกใช้น้ำยาฆ่าเชื้อตัวใดก็ตาม

– ตรวจ covid-19 มีค่าใช้จ่ายมั้ย?

ถ้ามีอาการเข้าเกณฑ์เสี่ยง ไป รพ. ตรวจได้ฟรี ใช้ได้ทั้งบัตรทองและประกันสังคม แต่ถ้าไม่เข้าเกณฑ์มีค่าใช้จ่ายประมาณหมื่นนึง

– แล้วค่ารักษาล่ะ?

บัตรทอง ประกันสังคม ครอบคลุมเช่นกัน แต่ถ้าจะรักษา รพ.เอกชน ก็จ่ายเงินเองนะ

– กลับมาจากประเทศที่มีการระบาด ยังไม่มีอาการป่วย ไปตรวจ covid-19 ผลเป็นลบ ยังต้องกักตัวต่อมั้ย?

ควรกักตัวต่อให้ครบ 14 วัน เพราะมีหลายรายที่ตอนไม่แสดงอาการ ตรวจไปยังไงก็ไม่เจอ มาเจอเอาตอนหลังที่ออกอาการแล้ว บางเคสตรวจกันสามสี่หนกว่าจะเจอ ดังนั้นต่อให้ตรวจไม่เจอ แต่ยังอยู่ในระยะฟักตัว ก็ควรกักตัวต่อไป

– หน้ากากผ้าธรรมดากัน covid-19 ได้มั้ย?

ได้ หลักการของการป้องกันคือ ปรกติเวลาไวรัสลอยฟุ้งมานอกร่างกาย มันจะมากับละอองสารคัดหลั่ง คือละอองน้ำลายจากการไอจาม ขนาดประมาณ 5-100 ไมครอน พวกนี้หน้ากากผ้าและหน้ากากอนามัยกันได้ แต่อันนี้สำหรับประชาชนทั่วไป ไม่แนะนำให้ใช้หน้ากากผ้าใน รพ. เพราะมีงานวิจัยว่าประสิทธิภาพไม่เพียงพอ

– หน้ากากผ้าเวลาซักเพื่อใช้ซ้ำ ต้องเอาไปพ่นแอลกอฮอล์มั้ย?

ไม่ต้องก็ได้ แค่ซักกับผงซักฟอกธรรมดา แล้วตากแดด ก็เพียงพอที่จะฆ่าเชื้อแล้ว (ใส่เดทตอลไปแช่หน่อยก็ได้ ฆ่าเชื้อได้เหมือนกัน)

– ควรใช้หน้ากากอนามัยเมื่อไหร่?

ใส่เมื่อป่วย มีอาการไอจาม ส่วนคนที่ยังไม่ป่วย แต่อยากใส่เพื่อป้องกัน ใส่หน้ากากผ้าป้องกันก็เพียงพอแล้ว

– หน้ากากอนามัยสามารถเอาไปซักหรือพ่นแอลกอฮอล์เพื่อใช้ซ้ำได้มั้ย?

ไม่แนะนำ เพราะถ้าเอาไปซัก มันจะทำให้ฟิลเตอร์กรองของมันเสียประสิทธิภาพไป เอามาใช้ใหม่ก็กรองไม่ได้เหมือนเดิมละ ส่วนการพ่นแอลกอฮอล์ จะทำให้ตรงที่เคลือบกันน้ำไม่สามารถกันได้ เอาเป็นว่าใช้หนเดียวทิ้งละกัน ถ้าจะใช้ซ้ำแนะนำหน้ากากผ้า

– หน้ากาก N95 ใช้ได้มั้ย?

ใช้ได้ แต่ไม่จำเป็นกับภาคประชาชน อันนี้ให้หมอพยาบาลที่อยู่ในจุดเสี่ยงมากๆ เช่นใน ICU ที่ต้องเจอเคสติดเชื้อหนักๆ ใช้ดีกว่า

– ซื้อหน้ากากอนามัยมาในอินเทอร์เน็ต จะรู้ได้ไงว่าของจริงของปลอมหรือของรียูส?

ก็ดูคุณภาพ ความสะอาด ใบเซอร์ จริงๆ ถ้าของรียูสหรือของห่วยๆ เปิดมากลิ่นมันก็โชยมาละ เห็นแล้วก็รู้แหละว่าจริงหรือปลอม

– ไปว่ายน้ำเสี่ยงติด covid-19 มั้ย?

ในสระว่ายน้ำมันจะมีการบำบัดด้วยคลอรีนหรือระบบน้ำเกลือ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลว่า ถ้าเชื้อมันตกลงสระน้ำ คนที่ไปว่ายจะติดเชื้อมั้ย แต่คนที่ไปว่ายน้ำ มันไม่มีใครใส่หน้ากากอนามัยว่ายหรอก ถ้ามีคนไปว่ายน้ำกันเยอะๆ แล้วไอจาม ก็เสี่ยงติดได้ ถ้ามีสระส่วนตัวก็ตามสะดวก ถ้าไปสระสาธารณะให้เลี่ยงเวลาคนพลุกพล่าน หรือเลี่ยงการไปว่ายน้ำช่วงนี้ก่อนก็ดี

– แล้วการเข้าฟิตเนสล่ะเสี่ยงมั้ย?

ก็ถ้ามีคนไอจามในฟิตเนส หรือเล่นไปน้ำลายกระเซ็นไปตามพื้นตามอุปกรณ์ มีคนเอามือไปจับ ก็เสี่ยงอยู่ ถ้าจะเข้าฟิตเนสช่วงนี้ก็ล้างมือบ่อยๆ แล้วอย่าเอามือไปจับอุปกรณ์ จับพื้น จับนู่นนี่แล้วมาจับปาก ตา จมูก ของตัวเอง

– ฟ้าทะลายโจร วิตามินซี สามารถป้องกัน covid-19 ได้มั้ย?

ยังไม่มีข้อมูลการวิจัยในคนทั้งสองตัว ฟ้าทะลายโจรมีของอภัยภูเบศน์กำลังวิจัย อีกสักพักน่าจะรู้ผล แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูล ไม่แนะนำให้ซื้อกินเอง หรือกินต่อเนื่อง เพราะเกิดผลข้างเคียงได้ แนะนำให้ใช้ในการแนะนำของหมอ หมอแผนไทย และเภสัช ส่วนวิตามินซี ถ้ากินเยอะเกินก็เสี่ยงนิ่วได้ กินผลไม้ก็พอละ

– ป้ายแขวนคอกำจัดไวรัสที่โฆษณาขายกัน สามารถป้องกัน covid-19 ได้มั้ย?

ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่บอกว่าพวกนี้สามารถป้องกันการติด covid-19 ได้ ไม่แนะนำให้ใช้ แพงด้วย และถ้าใช้แล้วไม่ใส่หน้ากากนี่จะเสี่ยงติดเชื้อมาก

– เจอคนแถวบ้านกลับมาจากพื้นที่เสี่ยงแต่ไม่ยอมกักตัวจะทำไงดี?

ให้โทรแจ้ง 1422 สายด่วนควบคุมโรค แต่ไม่น่าโทรติดหรอก เพราะคนโทรไปเยอะมาก ให้ไปแจ้ง จนท. ใน รพ. แถวบ้านละกัน

– เจอคนขายหน้ากากอนามัยเกินราคา แจ้งที่ไหน?

แจ้ง 1569 สายด่วนกรมการค้าภายใน

– จำเป็นต้องซื้อเทอร์โมมิเตอร์อินฟาเรดมาใช้มั้ย เห็นมีคนบอกว่าจำเป็นต้องมี?

เทอร์โมมิเตอร์ธรรมดาถูกๆ ก็พอแล้ว อย่าไปเชื่อไอ้พวกที่กักตุนของแล้วปั่นราคาเลย พวกนี้แม่งปั่นตั้งแต่หน้ากากอนามัย ชุดป้องกัน เจลแอลกอฮอล์ ยันถุงมือยางเลย

– คนอินเดียไม่ค่อยติด covid-19 เพราะกินเครื่องเทศจริงมั้ย?

อินเดียเพิ่งประกาศปิดประเทศไปเนี่ย เพราะยอดผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่มีหลักฐานว่าเครื่องเทศพวกนั้นสามารถป้องกันการติดเชื้อได้เช่นกัน จะกินก็กินได้ แต่อย่าละเลยการป้องกันตัวเองตามหลักข้างบน

– กัญชา กระท่อม รักษา covid-19 ได้มั้ย?
ไม่ได้

– ช่วงนี้พ่อแม่มีนัดที่ รพ. แต่ไม่ค่อยอยากไปเพราะคนใน รพ.พลุกพล่าน กลัวเสี่ยงติดเชื้อ ควรเลื่อนนัดมั้ย?
ถ้าเป็นไปได้ก็ควร คือถ้าพ่อแม่คนเฒ่าคนแก่ที่หมอนัด อาการคงที่ ไม่ได้แย่ลง ไปรับยาตามปกติ อันนี้สามารถติดต่อทาง รพ.ว่าขอรับยาทางไปรษณีย์ หรือรับยาที่ร้านใกล้ยาใกล้บ้านที่ร่วมโครงการกับทาง รพ. ได้

– งานต่างๆ ที่คนเยอะๆ มาชุมนุมกัน คอนเสิร์ต รายงานตัวที่โรงเรียน กิจกรรมสอบ งานพิธีกรรมทางศาสนา เกณฑ์ทหาร บลาๆ เสี่ยงมั้ย?

เสี่ยงหมด ถ้าเลื่อนได้ก็เลื่อน ถ้าเลื่อนไม่ได้ ให้ป้องกันให้เต็มที่ ใส่หน้ากาก ล้างมือ พกเจลแอลกอฮอล์ บลาๆ

– หมาแมวติดเชื้อ covid-19 ได้มั้ย?

ในหมาแมวจะมีเชื้อโคโรนาไวรัสที่ก่อโรคได้ คนเลี้ยงหมาแมวจะรู้กันดี แต่เชื้อพวกนี้ไม่ติดข้ามมาคน ส่วน covid-19 มีข่าวรายนึงที่ฮ่องกง แต่ล่าสุดผลออกมาว่า หมาไม่ติดเชื้อแล้ว อาจจะเป็นการปนเปื้อน ดังนั้นไม่ควรกังวลเรื่องการติดเชื้อจากคนไปสัตว์หรือสัตว์มาคน แต่ถ้าไม่สบายก็อยู่ห่างๆ หมาแมวก่อนดีกว่า

ขอบคุณเฟซบุ๊ก Drama-addict